การรับฟังความคิดเห็นและจัดประชาคม สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาโครงการ
การทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นประชาชนและจัดประชาคม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนา เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมายมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ รับรู้ข้อมูล ซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการ โดยเฉพาะโครงการที่ส่งผลกระทบกับประชาชนไม่ว่าเชิงบวก หรือเชิงลบ
การมีส่วนร่วม ความหมายเชิงพฤติกรรม
แนวคิดเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งที่ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ในเชิงการปฏิบัติจริง ๆ นั้น จะขอแปลเป็นภาษาชาวบ้าน เพื่อให้เข้าใจถึง “อารมณ์” ของประชาชนกันมากขึ้นดังนี้
- การให้ข้อมูลข่าวสาร ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส รัฐหรือเอกชนใดจะเข้ามาพัฒนาโครงการในพื้นที่บ้านฉัน ที่เคยอยู่กันอย่างสงบสุข ก็กรุณาบอกให้ชัดเจนว่า จะเข้ามาทำอะไร เมื่อไหร่ ฉันจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง โปรดให้เกียรติกับคนในพื้นที่บ้าง
- การปรึกษาหารือ เมื่อโครงการใด ๆ อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน จึงต้องมีการหารือ จัดประชุมประชาคม รับฟังความคิดเห็นกัน เพื่อคลายข้อวิตกกังวลต่าง ๆ ของชาวบ้าน เพราะ “ความไม่รู้” คือ ศัตรูสำคัญที่จะทำให้เกิดการต่อต้านได้ง่ายมาก
- เสนอแนวทาง คือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอแนวทาง เสนอความคิดเห็น รับฟังความทุกข์ ความเดือดร้อนของช้าวบ้าน หาหนทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน อย่าคิดแทนชาวบ้าน
- สร้างความร่วมมือ กับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เกี่ยวกับโครงการ และไม่เกี่ยวกับโครงการ
- ให้อำนาจกับประชาชนในการตัดสินใจดำเนินโครงการ ผ่านเวทีสาธารณะ อย่างมีส่วนร่วม เปิดเผย และโปร่งใส
“สิ่งสำคัญ คือ การรับฟังและใช้ความคิดในมุมมองของประชาชน”
กรณีศึกษาการรับฟังความคิดเห็นในการขอถอนสภาพและขอใช้ทางสาธารณะ จ.ระยอง
บริษัท ซีอาร์เอฟ แมเนจเม้นท์ จำกัด (ชื่อเดิมของบริษัท แมส เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด) ได้รับความไว้วางใจให้เป็นที่ปรึกษาและดำเนินงานชุมชนสัมพันธ์ ขับเคลื่อนการจัดประชาคม และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในการขอถอนสภาพ ขอใช้ทางสาธารณะ และแลกเปลี่ยนที่ดินสำหรับทำทางสาธารณะในพื้นที่ จ.ระยอง ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากต้องประสานความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งราชการส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม แต่ละฝ่ายต่างมีอำนาจหน้าที่ มีจุดยืน มีส่วนได้ส่วนเสียแตกต่างกันไป
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของประวัติความเป็นมาของโครงการ ความขัดแย้งและผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มในพื้นที่ ทำให้จำเป็นต้องมีคนกลางมาเป็นผู้ประสานงานขับเคลื่อนการจัดประชาคมครั้งนี้
ลงพื้นที่ สำรวจข้อมูลพื้นฐาน
เมื่อได้รับโจทย์ ที่ปรึกษาจะทำการไล่เรียงความเป็นมา ระบุหน่วยงาน และตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องว่ามีใครบ้าง ลงพื้นที่สำรวจโครงการ รับฟังข้อมูลจากเจ้าหน้าที่โครงการโดยละเอียด เรียกว่าเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ เพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆ อย่างรอบด้าน
จากนั้น จะต้องทำ mapping ออกมาให้ได้ว่า ใคร มีความเชื่อมโยงกับใคร มีความคิดเห็นและความสนใจในเรื่อไหน อย่างไรบ้าง เพื่อให้เห็นมุมมองของสถานการณ์ ทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก จากนั้น จึงค่อยเข้าสู่การวางแผนการดำเนินงานโดยละเอียด ว่าจะลงไปประสานในแต่ละส่วนอย่างไร


ประสานงานกับภาครัฐ
สิ่งที่ค่อนข้างยากที่สุดในการขับเคลื่อนโครงการ คือ การประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในที่นี้มีทั้ง ราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัด สำนักงานที่ดินประจำจังหวัด อำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาลตำบล
ความยากอย่างแรก คือ การทำงานของหน่วยราชการนั้น ต้องเดินด้วยหนังสือราชการ ดังนั้น การเขียนหนังสือราชการจึงต้องเป็นไปตามตัวบทกฎหมายที่กำหนด และด้วยความที่ต้องอิงตามกฎหมาย จึงเกิดการตีความที่แตกต่างกัน มีมุมมองต่อสถานการณ์ที่แตกต่างกัน การสื่อสารกันด้วยตัวหนังสือจึงเป็นเรื่อง “ยาก” ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจกันอย่างถ่องแท้
ความยากที่สอง คือ ทุกคนไม่อยากผิดพลาด เพราะความผิดพลาดหมายถึงปัญหาในการใช้ชีวิตราชการ อาจถูกตรวจสอบ ถูกโยกย้าย ถูกฟ้องร้อง หรืออย่างใดก็แล้วแต่ ดังนั้น โดยธรรมชาติ ทุกฝ่ายจึงต้อง “Play safe” ให้ได้มากที่สุด ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
ความยากที่สาม คือ เรื่องขั้นตอน ว่าจะต้องผ่านหน่วยงานนี้ก่อน จึงจะไปหน่วยงานนั้น จะต้องมีการติดประกาศก่อนล่วงหน้ากี่วัน จะต้องมีการออกหนังสือเชิญล่วงหน้ากี่วัน ขั้นตอนปฏิบัติทั้งหลายจึงต้องถูกปฏิบัติตามกรอบของเวลาอย่างแม่นยำ
ความยากที่สี่ คือ การนัดหมายเข้าพบเพื่อหารือ เนื่องจากผู้บริหารส่วนราชการแต่ละท่านมีภารกิจหน้าที่มากมาย การนัดหมายอาจต้องทำผ่านผู้ประสานงาน หรือหน้าห้อง ทำให้กว่าจะนัดหมายเข้าพบหัวหน้าส่วนราชการทุกท่านได้ครบถ้วนจึงต้องอาศัยเวลา
ดังนั้น ในความเป็นจริงแล้ว การประสานงานระหว่างหน่วยราชการต่าง ๆ อาจไม่จำเป็นต้องมีใครมาขับเคลื่อนก็ได้ แต่การเดินเรื่องต่าง ๆ จะเป็นไปอย่างเชื่องช้ามาก ๆ เป็นไปตามยถากรรม เรื่องถึงเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ถ้าผิด ก็ส่งกลับไปแก้แล้วค่อยเริ่มกันใหม่…แต่นี่ไม่ใช่แนวทางการทำงานของเรา


พบปะผู้นำความคิดเห็น
นอกจากการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐอย่างละเอียดและรัดกุมแล้ว สิ่งสำคัญที่สุด หนีไม่พ้นการสื่อสารสร้างความเข้าใจกับผู้นำความคิดเห็นในพื้นที่
“ความเข้าใจ เกิดจากการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์”
ทีมที่ปรึกษาลงพื้นที่พบปะกับผู้นำชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย รับฟังปัญหา รับฟังประวัติ ความเป็นมา เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต แล้วจึงคิดหาทางออกร่วมกัน รับฟังมุมมองความคิดเห็น ข้อวิตกกังวล และความคาดหวังของคนในพื้นที่
สิ่งสำคัญคือ เราต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างโปร่งใส รับฟังอย่างตั้งใจและจริงใจ ให้ความสำคัญกับความคิดเห็น ให้เกียรติในความเป็นเจ้าของพื้นที่ และร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน

เคลียร์ข้อกังขา
หลังจากการเข้าพบผู้นำความคิดเห็น ได้พูดคุย สอบถาม จนมีความเข้าอกเข้าใจกันพอสมควรแล้ว ทีมที่ปรึกษาจึงขอให้ผู้นำความคิดช่วยประสานต่อไปยังประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการ เพื่อชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ และตอบข้อสงสัยของประชาชน เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจากผู้พัฒนาโครงการ
ขั้นตอนนี้ ถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้ขั้นตอนอื่น ๆ เพราะหากประชาชนในพื้นที่ยังมีความเข้าใจผิด ก็จะมีความกังวล ความไม่เชื่อมั่น และส่งผลให้การทำประชาคมไม่อาจบรรลุผลสำเร็จได้
ความสำเร็จของการจัดประชาคม รับฟังความคิดเห็น
ตัวชี้วัดของงานนี้ คือ ความสำเร็จในการจัดประชาคม รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน โดยมีผู้ยกมือสนับสนุนให้หน่วยงานผู้ขอสามารถขอใช้ ขอถอนสภาพ และแลกเปลี่ยนทางสาธารณะได้
แต่ความสำเร็จครั้งนี้ ไม่อาจพูดได้ว่าเป็นความสำเร็จของบริษัทที่ปรึกษาเพียงฝ่ายเดียว เพราะสิ่งสำคัญคือ การที่ลูกค้าจะต้อง “อุทิศ” พนักงานผู้ประสานงาน มาทำงานใกล้ชิดกับที่ปรึกษา ใกล้ชิดจนเหมือนเป็นทีมเดียวกัน ร่วมพบปะพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ร่วมหัวจมท้ายในการทำงาน ที่สำคัญที่สุด คือ จะต้องเชื่อมั่นในทีมที่ปรึกษา เพราะเราคือคนกลาง ที่ผสานความสำเร็จให้ทุกฝ่ายแบบ win-win-win โดยมีเป้าหมายคือการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นสำคัญ